หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ ที่เชิดชักมาแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์
ตราบกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 จึงตกไปจากความนิยมจนเกือบสาบสูญไป หุ่นหลวงมีขนาดประมาณ
๑๐๐ เซนติเมตร สร้างเลียนแบบตัวละครของโขนและละคร แต่งกายด้วยเครื่องละครจริง
โครงสร้างของหุ่นทำจากไม้น้ำหนักเบาเพื่อสะดวกต่อการเชิด เรื่องที่นิยมนำมาเล่นคือ
รามเกียรติ์ หุ่นหลวงรัตนโกสินทร์ศก ๒๑๘ หรือตรงกับพ.ศ. 2543 เกิดจากความมุ่งมั่นของคุณเสริมคุณ
คุณาวงศ์ ผู้อำนวยการผลิตหุ่นหลวงผู้ปลุกให้หุ่น หลวงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ด้วยการศึกษาจากวรรณกรรมประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณ งานจิตรกรรมฝาผนังโบราณ
และศึกษาหุ่นหลวงในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งหมด โดยมีอาจารย์จักรพันธุ์
โปษยกฤตและคุณวัลภิศร์ สดประเสริฐ เป็นผู้ให้คำปรึกษาในการจัดสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้อย่างใกล้ชิด
การจัดสร้างหุ่นหลวงครั้งนี้ ประกอบด้วย อาจารย์ภัทรไชย แสงดอกไม้
และทีมงานทำงานด้านการสร้างหุ่นและอาจารย์สุรัตน์ จงดาพร้อมทีมงานดูแลด้านกลไก
และกำกับการฝึกซ้อมการแสดง โดยจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่งานเทศกาลวัดอรุณ
ร.ศ.๑๐๐ ต่อมา ได้ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้การสร้างหุ่นหลวงสมบูรณ์แบบมากขึ้น
โดยจัดสร้างหุ่นต้นแบบ พระ นาง ยักษ์ ลิง และจัดสร้างหุ่นหลวง พระราม,
นางเบญจกาย, สุครีพ, ทศกัณฐ์หน้าทองและหนุมาน แผลงฤทธิ์ นอกจากนี้
ยังมีโครงการที่จะจัดทำหนังสือการสร้างหุ่นหลวงเพื่อเผยแพร่ไปยังสถาบันการศึกษาต่าง
ๆ ด้วย